Friday, February 20, 2009

ประวัติ

การจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ในสมัยที่มหาวิทยาลัยนเรศวรยังคงเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก โดยในช่วงนั้นภายหลังจากที่กระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลกได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินทุ่งหนองอ้อ-ปากคลองจิก ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน เพื่อขยายโครงการของมหาวิทยาลัยแล้ว ทางวิทยาเขตจึงได้จัดทำ "แผนพัฒนาวิทยาเขตพิษณุโลก" ขึ้น โดยมีโครงการที่จะจัดตั้งคณะขึ้นมาใหม่ 3 คณะ คือ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์และพยาบาลศาสตร์ด้วย[1]

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ภายหลังจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลกได้ยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยนเรศวร" เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมพ.ศ. 2533 แล้ว การจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์จึงได้ดำเนินการอีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2536 ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในส่วนภูมิภาค โดยจัดให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มและกระจายแพทย์ลงสู่ส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น รัฐบาลจึงศึกษาความเป็นไปได้ถึงความเหมาะสมของการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นใหม่ในมหาวิทยาลัยภูมิภาค[5]

จากแนวทางดังกล่าว มหาวิทยาลัยนเรศวรได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ต่อทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 โดยมุ่งหวังที่จะผลิตแพทย์สนองนโยบายรัฐบาลโดยแนวทางที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกับโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดภาคเหนือตอนล่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีการลงนามความร่วมมือการผลิตแพทย์ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยนเรศวรในปี พ.ศ. 2537[6] หลังจากที่คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัย จัดทำโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (The Collaborative Project to Increase Production of Rural Doctor-CPIRD)

คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้มีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2537[5] และในคราวเดียวกันนั้น คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมุ่งหวังให้เป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนนิสิตในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งหมดของมหาวิทยาลัย และเพื่อเป็นโรงพยาบาลหลักของคณะสำหรับการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์ในอนาคตต่อไป ซึ่งการก่อสร้างอาคารศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ซึ่งในช่วงแรกได้ใช้ชื่อว่า "สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร" โดยเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน และต่อมาได้เข้ารวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ในปี พ.ศ. 2548 พร้อมทั้งใช้ชื่อเป็น "โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร"[3]

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเริ่มรับนิสิตแพทย์รุ่นแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2538 โดยในช่วงแรกทำการเรียนการสอนชั้นปรีคลินิก (ชั้นปีที่ 1 - 3) ที่คณะแพทยศาสตร์และคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยนเรศวร จากนั้นจึงไปศึกษาต่อระดับชั้นคลินิก (ชั้นปีที่ 4 - 6) ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ซึ่งหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการรับรองจากแพทยสภา เมื่อพ.ศ. 2539[5] จากนั้นในปี พ.ศ. 2542 ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ขยายการเรียนการสอนชั้นคลินิกเพิ่มโดยร่วมมือกับทางโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ซึ่งนิสิตแพทย์ทั้งหมดจะอยู่ในโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยรับนิสิตจากโควต้าในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง[7]

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์

ปีการศึกษา 2546 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดรับนิสิตแพทย์แนวใหม่ (New Tract) โดยรับจากบุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้โอกาสผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์หรือสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่มีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการสาธารณสุข เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีระยะเวลาเวลาศึกษา 5 ปี (เทียบโอนหน่วยกิตในชั้นปีที่ 1) และศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เหมือนกับนิสิตแพทย์ปกติทุกประการ ซึ่งจะอยู่ในโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทเช่นเดียวกัน โดยจะทำการเรียนการสอนชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โรงพยาบาลแพร่ และ โรงพยาบาลพิจิตร[5]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เปิดรับนิสิตแพทย์จากระบบคัดเลือกส่วนกลางของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)[5] ซึ่งไม่ได้อยู่ในโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทของกระทรวงสาธารณสุข โดยนิสิตแพทย์กลุ่มนี้จะทำการเรียนการสอนชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ (สำหรับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จะรับเฉพาะนิสิตแพทย์ที่เข้าทำการศึกษาในปีการศึกษา 2547 - 2548 เท่านั้น)[8] และตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 เป็นต้นไปทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้เปลี่ยนวิธีการรับนิสิตแพทย์ระบบคัดเลือกส่วนกลาง โดยรับร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.)

ในปีการศึกษา 2552 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินการจัดสรรสถานที่เรียนในชั้นคลินิกใหม่ โดยนิสิตในโครงการคัดเลือกผ่านกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท และโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน จะจัดสรรให้เรียนในชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก หรือศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ส่วนโครงการแพทย์แนวใหม่ มีการจัดสรรให้เรียนในชั้นคลินิกที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลแพร่ หรือศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพิจิตร เช่นเดิม[9]

ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรแบ่งหน่วยงานออกเป็น 11 ภาควิชา สำนักงานเลขานุการคณะ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร[8][10]

ที่มา      

No comments:

Post a Comment