Sunday, April 18, 2010

แนวทางป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด...


เพื่อเสริมการรักษา

แม้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านมีความตั้งใจที่ต้องดูแลสุขภาพของผู้ป่วยอย่างดีที่สุดเสมอตามจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่เมื่อช่วงต้นปีปรากฏข่าวการติดเชื้อหลังการผ่าตัดต้อกระจก ทำให้ประชาชนเกิดความสนใจประเด็นปัญหาเรื่องการติดเชื้อในสถานพยาบาลมากขึ้น จนบางคนอาจตระหนกกับการไปโรงพยาบาลเลย ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยของสถานพยาบาล จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนของหน้าที่ของบุคลากรสาธารณสุข หน่วยงาน องค์ กร และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติ เพื่อหามาตรการและแนวทางป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ตลอดเวลาที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ มีแพทย์และพยาบาลด้านโรคติดเชื้อและเวชบำบัดวิกฤติกว่า 200 คน เข้าร่วมประชุมวิชาการแพทย์ ในหัวข้อ “จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างมาตรฐานป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล” เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการควบคุมการติดเชื้อทางกระแสเลือดในโรงพยาบาล ณ โรงแรมพูลแมน โดยมี นพ.วิคเตอร์ ดี โรเซนทอล ประธานสมาพันธ์ควบคุมการติดเชื้อในโรงพยา บาลนานาชาติ (International Nosocomial Infection Control Consortium: INICC) และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของชาวอาร์เจนตินา ได้มาบรรยายว่า การติดเชื้อในโรงพยาบาลไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในสถานพยาบาลของไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากการติดเชื้อในโรงพยาบาลกว่า 1.4 พันล้านคน ในประเทศที่กำลังพัฒนามีอัตราผู้ป่วยติดเชื้อสูงมากคือ 1 ในจำนวนผู้ป่วย 4 ราย ซึ่งการติดเชื้อในโรงพยาบาล มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่จำเป็นต้องใส่อุปกรณ์เข้า ไปในร่างกาย เช่น การใส่สายสวนหลอดเลือด การใส่สายสวนปัสสาวะ การใส่เครื่องช่วยหายใจ และการให้สารน้ำหรือของเหลวเข้าทางหลอดเลือด เป็นต้น

การติดเชื้อทางกระแสเลือด เป็นหนึ่งในปัญหาการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่พบบ่อย ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากที่ผู้ป่วยต้องใส่สายสวนหลอดเลือดเป็นเวลานาน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อในกระแสเลือดจาก 2 ทางด้วยกัน คือจากเชื้อที่อยู่ตามผิวหนัง และจากเชื้อที่ แพร่กระจายไปทางสายสวนหลอดเลือดเอง ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อขึ้นแล้วจะส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยยากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลนานและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องใช้ยาราคาแพงในการรักษา และมีโอกาสเกิดเชื้อดื้อยาสูง ทั้งนี้ หากมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง ก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

แนวทางการควบคุมการติดเชื้อทาง กระแสเลือดในโรงพยาบาล สามารถควบคุมได้ โดยขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยสำคัญ คือ

1)การปฏิบัติตามแนวทางเพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัดของบุคลากรผู้เกี่ยวข้องทางการแพทย์

2)การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเลือกใช้อุปกรณ์กับ ผู้ป่วยมีความสำคัญมาก ทั้งชนิด ขนาด และวัสดุของอุปกรณ์สายสวนที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ความสะอาดของ เครื่องมือ โดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีการศึกษารับรองว่า สามารถ ช่วยลดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เช่น สายสวนชนิดพิเศษที่มีการเคลือบยาฆ่าเชื้อ การให้สารละลายหรือน้ำเกลือด้วยภาชนะถุงนิ่มที่เป็นระบบปิดซึ่งป้องกันการติดเชื้อทางกระแสเลือด ที่สามารถลดโอกาสการติดเชื้อได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

นพ.วิคเตอร์ ได้นำเสนอผลงานวิจัยการศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง การให้สารละลายแบบขวดซึ่งเป็นระบบเปิดกับการให้สารละลายแบบถุงนิ่มซึ่งเป็นระบบปิด (Closed system) ใน 4 ประเทศ คือ อิตาลี เม็กซิโก บราซิล และอาร์เจนตินา พบว่า หลังจากเปลี่ยนมาใช้ภาชนะแบบถุงนิ่มระบบปิด ทำให้อัตราการติด เชื้อในกระแสเลือดลดลงกว่า 60% ภาชนะถุงนิ่มระบบปิดนั้นมีคุณสมบัติพิเศษ คือมีความยืดหยุ่นสูง มีแรงบีบตัวทำให้สารละลายในถุงทั้งหมดสามารถไหลเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยได้อย่างคง ที่และครบถ้วน โดยไม่ต้องอาศัยอากาศเข้าไปแทนที่น้ำเพื่อดันสารละลายออกมา เช่น ภาชนะ แบบขวดแก้ว หรือขวดพลาสติกชนิดกึ่งแข็ง ที่ต้องให้อากาศเข้าไปแทนที่สารละลายในขวด เพื่อให้สารละลายไหลออกมา โดยอาจใช้เข็มแทงด้านบนขวด หรือใช้อุปกรณ์ให้ยาที่สามารถให้อากาศผ่านเข้าไปในขวดได้ ภาชนะถุงนิ่มระบบปิดจึงช่วยลดโอกาสที่สารละลายจะสัมผัสกับเชื้อในอากาศ ทำให้ลดโอกาสการติดเชื้อได้ ทั้งยังเหมาะกับการให้สารละลายในผู้ป่วยพิเศษที่จำเป็นต้องได้รับยาอย่างครบถ้วน เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยไอซียู เป็นต้น

ข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อนุชา อภิสารธนรักษ์ หน่วยโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ตามที่ได้ทำการศึกษาแนวทางการป้องกันการติดเชื้อ ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรตินั้นพบว่า การกำกับดูแลผู้ป่วยอย่างเข้มข้นมากขึ้นในขณะที่กำลังใส่ สายสวนหลอดเลือด เช่น เพิ่มจำนวนครั้งในการล้างมือทั้งก่อนและหลังปฏิบัติงาน สวมใส่ชุดปฏิบัติงานให้เหมาะสมทุกครั้งก่อนการใส่สายสวนหลอดเลือดให้กับผู้ป่วย เช่น หน้ากาก เสื้อคลุม ถุงมือ ฯลฯ ใช้ยาฆ่าเชื้อที่ผิวหนังบริเวณที่ใส่สายสวน การพิจารณาเอาสายสวนออกในผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นต้องใส่ จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อในกระแสเลือดได้มาก วิธีการเหล่านี้ยังสามารถลดค่าใช้จ่าย โดยรวมทั้งของผู้ป่วยเองและในระดับประเทศ รวมถึงลดความสูญเสียที่อาจเกิดกับผู้ป่วยอีกด้วย การใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมนั้นอาจมีความ จำเป็นถ้าโรงพยาบาลไม่สามารถลดอัตราการ ติดเชื้อได้ หลังจากมีการกำกับดูแลผู้ป่วยอย่างเข้มข้นมากขึ้นในขณะที่กำลังใส่สายสวนหลอดเลือดแล้ว

อย่างไรก็ตาม แนวทางและการปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลนั้น นอกจากการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดของโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ในส่วนของตัวผู้ป่วยเอง ญาติและครอบครัวก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น การล้างทำความสะอาดมือทั้งก่อนและหลังเข้าเยี่ยมผู้ป่วย จำกัดการเยี่ยมเฉพาะที่จำเป็น ห้ามผู้ที่มีอาการไข้หวัดเข้าเยี่ยมโดยเด็ดขาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยใกล้ชิด สัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง และผิวหนังที่มีบาดแผลของผู้ป่วย และสังเกตอาการ ตนเองว่ามีไข้ อาการผิดปกติระบบทางเดินหายใจ หรือไม่หลังเยี่ยมครั้งสุดท้ายภายใน 7 วัน หากมีอาการผิดปกติให้มาพบแพทย์

พบว่าปัจจุบันโรงพยาบาลในไทยได้ ตื่นตัวในการพัฒนาโรงพยาบาลสู่มาตรฐานในระดับโรงพยาบาลคุณภาพในระบบ Joint Commission International (JCI) มาก ขึ้น นับว่าเป็นแนวโน้มที่ดี เนื่องจากจะทำให้ประชาชนได้รับการบริการและการรักษาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับนานาชาติ ซึ่งหากมองในระยะยาว ก็จะเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนาโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดมาตรฐานของโรงพยาบาลที่ดี และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลประโยชน์สูงสุดต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยต่อไป

ข้อมูลจาก ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์ ประธานมูลนิธิคุณแม่คุณภาพ.

นายแพทย์สุรพงค์ อำพันวงษ์

No comments:

Post a Comment