Sunday, April 18, 2010
'ชีวิตที่สมบูรณ์ ต้องมีการเคลื่อนไหว'
“Life is movement-Movement is life” ชีวิตต้องมีการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวทำให้มีชีวิต เป็นคำกล่าวที่ดูพื้น ๆ เข้าใจง่าย ใครอ่านก็ต้องบอกว่าเหมือนกำปั้นทุบดิน ใคร ๆ ก็รู้ สมัยเรียนชั้นประถมคุณครูก็สอนว่าสิ่งมีชีวิตคืออะไร สิ่งมีชีวิตต้องมีการเจริญเติบโต และต้องมีการเคลื่อนไหว ฯลฯ
ปัจจุบันคนเราถูกทำ หรือ ทำตัวเองเหมือนกับว่าเป็นสิ่งไม่มีชีวิต เช่น นั่งอยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหวนานหลายชั่วโมงที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ทีวี โต๊ะทำงาน หรือในรถยนต์ เป็นอยู่อย่างนี้วันแล้ววันเล่า จนในที่สุดร่างกายของเราก็ไม่สามารถแบกรับภาระไหว เรียกว่า overuse หรือ ถ้าเป็นล้อรถก็เรียกว่ายางแตก หรือยางระเบิด เพราะเหมือนเราขับ รถมาต่อเนื่อง โดยไม่มีการหยุดพักอย่างเพียง พอนั่นเอง ในที่นี้อวัยวะที่ผมจะกล่าวถึงก็คือ “หมอนรองกระดูก” ที่อยู่ตรงบริเวณกระดูกสันหลังของเราทุกคน ทำหน้าที่เชื่อมต่อปล้องกระดูกสันหลังเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เราสามารถก้มได้ เงยได้ บิดตัว แอ่นหลังได้ นอกจากนี้หมอนรองกระดูกยังทำหน้าที่ดูดซับแรงกระแทกในทุกขณะที่เราเดิน ยืน หรือวิ่ง หากปราศจากหมอนรองกระดูกแล้ว คนเราก็จะสูญเสียสภาพการเคลื่อนไหวโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถก้มเงย หรือเดินได้ เพราะเส้นประสาทสันหลังจะถูกเบียด และถูกกด จนสูญเสียการสั่งงานเหมือนสายไฟฟ้าถูกตัดขาด ไม่สามารถส่งกระแสไฟไปยังปลายทางได้
ทำอย่างไรเราจึงจะคงสภาพของหมอนรองกระดูกให้มีอายุการใช้งานที่ยืนนานได้ โดยปกติหมอนรองกระดูกจะสูญเสียสภาพหรือความสมบูรณ์ไปเมื่ออายุ 40-70 ปี แต่ในปัจจุบันเป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่งที่เราพบหมอนรองกระดูกแตก ในวัยรุ่นหรือคนอายุก่อนวัย 20 ปีเพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจ อันเนื่องมาจากการใช้อย่างสมบุกสมบันจากกิจกรรมอื่นที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น นั่งเล่นเกมต่อเนื่องนานนับหลายชั่วโมงจนเป็นกิจวัตรประจำวัน และต้องยอมรับว่าในปัจจุบันผู้ผลิตเกมได้ผลิตเกมออกมาทันสมัย เหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังชอบเล่นเกม เพราะให้ความบันเทิง เพลิดเพลินได้อย่างดี ในยามภาวะที่มีปัญหาสังคม หลากหลาย ที่ผมกล่าวมานี้ ผมไม่ได้ห้ามเล่นเกมนะครับ เพียงแต่ต้องรู้จักเล่นอย่างมีสติ และพักผ่อนบ้าง แต่สำหรับวัยรุ่นที่ยังขาดความยับยั้งชั่งใจและไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้ปกครอง โอกาสที่เด็กจะเป็นทาสของเกมก็ยิ่งเป็นไปได้สูง ผลเสียที่ตามมาก็คือโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร หรือเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ซึ่งไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ เพราะไม่ว่าจะมีอวัยวะเทียม, โลหะหมอนรองกระดูกเทียม, ข้อหมอนรองกระดูกเทียมที่ดีที่สุดในโลกก็ไม่สามารถมาทดแทนหมอนรองกระดูกตามธรรมชาติของเราได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกับท่าทางการนั่ง การยืน หรือการนอนว่าท่วงท่าใดบ้างที่มีผลเสียต่อหมอนรองกระดูกมากน้อยอย่างไร
เมื่อพิจารณาตามรูปกราฟที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอิริยาบถต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันกับแรงกดที่หมอนรองกระดูกสันหลัง โดยให้แกนแนวตั้งเป็นน้ำหนักที่กระทำต่อหมอนรองกระดูกสันหลัง (หน่วยเป็นกิโลกรัม) ส่วนแนวนอนเป็น อิริยาบถต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของพวกเราจะพบว่าท่าที่ทำให้เกิด แรงดัน หรือแรงกด ต่อหมอนรองกระดูก มากที่สุดก็คือ ท่านั่ง โดยเฉพาะท่านั่งในที่นั่งแบบไม่มีพนักพิง ซึ่งมีแรงดันสูงมากถึง 275 กิโลกรัม เทียบเท่ากับว่าเราแบกคนน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัมไว้ประมาณ 5 คนกว่า ๆ ลองคิดดูซิครับว่าเฉพาะท่านั่งที่ผิดสรีรวิทยาทำให้เกิดแรงกดมหาศาล แล้วส่วนใหญ่เราเองก็ชอบนั่งท่านี้เวลานั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันนานนับหลายชั่วโมงต่อวัน เพราะฉะนั้นถ้าท่านรู้แบบนี้แล้วอย่าลืมเปลี่ยนอิริยาบถ ๆ จากนั่งมาเป็นท่ายืน จะช่วยลดแรงกดเหลือ 100 กิโลกรัม และเหลือน้อยที่สุดเพียง 25 กิโลกรัมใน “ท่านอน”
อย่าลืมนะครับ แรงกดเปลี่ยนไปนับ 10 เท่าทีเดียว เพียงแค่เปลี่ยนอิริยาบถ ย้ำเตือนตัวเองและลูกหลานไว้เสมอว่าอย่านั่งนาน ถ้าคิดจะนั่ง ต้องนั่งให้ถูกวิธี ที่สำคัญอย่านั่งนานเกินกว่า 1 ชั่วโมง โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ และหากท่านมีอาการปวดหลัง การนอนราบไปกับพื้นเป็นท่าที่ดีที่สุดที่จะช่วยบรรเทาอาการได้
ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์จิระเดช ตุงคะเศรณี ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2.
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment