ฟิต ไม่ ฟิต
การเอาใจใส่สุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง มีผู้คน จำนวนไม่น้อยที่จะทราบถึงสุขภาพของตนเองก็ต่อเมื่อมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เสียทั้งเศรษฐกิจการงานเสียทั้งคุณภาพชีวิต เข้ากับสุภาษิตที่ว่า วัวหายแล้วจึงล้อมคอก หลายคนมักคิดว่าการตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไป ก็เพียงพอในการบ่องบอกประสิทธิภาพร่างกายซึ่งไม่เป็นจริงเสมอไป ทั้งนี้เนื่องจากการตรวจสุขภาพทั่วไปอันประกอบด้วย การเจาะเลือด เอ็กซเรย์ ตรวจคลื่นหัวใจ เหล่านี้เป็นการตรวจเช็คร่างกายในขณะพักเท่านั้น ไม่ได้ตรวจในขณะที่ร่างกายมีการออกกำลังกาย จึงไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าสมรรถภาพร่างกายดีเพียงไร
สมรรถภาพร่างกายที่ดี หมายถึง ความสามารถของร่างกายในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ เช่นการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่
ประสิทธิภาพของร่างกาย ในการประกอบกิจกรรมต่างๆ มาจากการทำงานอย่างสัมพันธ์กันอย่างดีของอวัยวะหลายๆส่วนของร่างกาย ซึ่งจะสอดคล้องกับลักษณะของกิจกรรมแต่ละอย่างแต่ละประเภท ดังนั้นบุคคลที่มีสมรรถภาพทางกายดี ย่อมสามารถทำงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเคลื่อนไหวร่างกายได้นาน ไม่เหนื่อยง่าย ในทางตรงข้ามผู้ที่สมรรถภาพทางกายต่ำ หมายถึงการขาดความสมบูรณ์ทางกาย ทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยเร็วกว่าที่ควร ความเหน็ดเหนื่อยทำให้การตัดสินใจช้าลง และการสั่งงานของสมองต่อระบบเคลื่อนไหว ช้าลง หรืออาจไม่เป็นไปตามความคิดได้ทันท่วงที
กาทดสอบสมรรถภาพ มีประโยชน์คือ ทำให้ทราบถึงระดับความสามารถของร่างกาย ในแต่ละด้าน ที่จะทำหน้าที่ต่างๆ เป็นแนวทางในการพัฒนาความสามารถของร่างกาย หรือส่วนที่บกพร่องให้มีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ เป็นแนวทางในการตัดสินใจความสามารถของร่างกายเพื่อนำไปสู่การออกกำลัง กายอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังเป็นสื่อในการกระตุ้นนักออกกำลังกายให้พัฒนาความสามารถของร่างกาย และรักษาความสมบูรณ์ของร่างกายให้คงอยู่อย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ องค์ประกอบต่างๆ ของการตรวจสมรรถภาพร่างกาย ยังช่วยบ่งบอกหรือ สะท้อนถึงภาพของความมากน้อยของอัตราเสี่ยงของบุคคลนั้นต่อการเกิดโรค บางอย่างในอนาคต เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
องค์ประกอบของการตรวจสมรรถภาพร่างกาย ได้แก่
1.การวัดขนาดและสัดส่วนของร่างกาย โดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความหนาของชั้นไขมันใต้ผิวหนัง บริเวณของผิวหนังที่จะจับขึ้นมาวัดหาปริมาณของไขมันได้นั้นมีอยู่หลายแห่ง เช่นที่บริเวณด้านหลังของต้นแขน บริเวณด้านหน้าของต้นขา บริเวณขอบบนทางก้นข้างของกระดูกเชิงกราน บริเวณหน้าท้องด้านข้างสะดือ บริเวณด้านหลังตรงมุมล่างของกระดูกสะบัก การวัดค่าความหนาของชั้นไขมันนี้จะสามารถเทียบหาเป็นเปอร์เซ็นต์ของปริมาณ ไขมันที่มีอยู่ในร่างกายเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินว่าผู้ที่ได้รับการตรวจนั้น มีน้ำหนักตัวเกิน หรือมีภาวะอ้วน หรือไม่
รายงานวิจัยในปัจจุบันได้ยืนยันว่า การวัดความยาวรอบเอวจะเป็นค่าหนึ่งที่จะบ่งชี้ถึงความมากน้อยของอัตราเสี่ยง ต่อการเกิดโรคดังที่กล่าวไปแล้ว
2.สมรรถภาพเอ็นและกล้ามเนื้อ ได้แก่
2.1 การวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Muscle Strength) เป็นการวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในชีวิตประจำ วัน เช่น กล้ามเนื้อแขน โดยการวัดแรงบีบมือ
2.2 ความอ่อนตัว (Flexibility) หมายถึงความสามารถของร่างกายในการเคลื่อนไหวให้ได้ทุกมุมของการเคลื่อน ไหวอย่างเต็มที่ การยืดหยุ่นตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ ข้อต่อ ทำให้การเคลื่อนไหวคล่องตัวขึ้น การเคลื่อนไหวของข้อที่สำคัญในชีวิตประจำวันของคนเราคือหลังและไหล่ ผู้ที่มีความยืดหยุ่นของข้อต่อต่างๆ น้อย จะมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อข้อนั้นได้ง่าย เช่นที่พบบ่อยคือผู้ที่เริ่มมีภาวะหลังติดยึด เมื่อเอี้ยวตัวไปหยิบของที่เบาะหลังของรถอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังอย่าง เฉียบพลันได้ หรือผู้ที่มีข้อไหล่ติดยึดแข็งจะใส่เสื้อได้ลำบาก เป็นต้น การทดสอบความอ่อนตัวจะเป็นการชี้นำให้สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ที่จะเกิดตามมาได้
3.การตรวจสมรรถภาพของระบบทางเดินหายใจ
เป็นการวัดปริมาตรความจุปอดและประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งผู้ที่สมรรถภาพปอดดี จะมีความทนทานต่อกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตประจำวันไม่เหนื่อยง่าย ในทางกลับกัน ผู้ที่มีสมรรถภาพปอดลดลง ก็อาจบ่งบอกถึงการขาดการออกกำลังกาย หรือมีพยาธิสภาพในปอด
4.การตรวจสมรรถภาพ ของระบบหัวใจและการไหลเวียนเลือด หมายถึง ความสามารถของร่างกายที่ทนต่อการทำงานในระดับความหนักต่างๆ กัน วัดโดยมีความหนักของงานเป็นตัวกำหนด เช่น การขี่จักรยาน การเดินสายพาน เป็นต้น เป็นการวัดอัตราการใช้ออกซิเจนของร่างกายขณะที่มีการออกกำลังกาย ซึ่งบ่งบอกถึงประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและปอดที่จะสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้
โดย...พ.ญ.สุชีลา จิตสาโรจิตโต
ที่มา http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=6019.msg53978#msg53978
No comments:
Post a Comment